7 ข้อคิด สอนออนไลน์ให้สนุก เคล็ดลับดีๆ จากอาจารย์สาธิตจุฬาฯ


อาจารย์สาธิตจุฬาฯ เผยเคล็ดลับการสอนออนไลน์ให้สนุก ยืดหยุ่น สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียนในชีวิตวิถีใหม่ที่ท้าทาย


“จะเปิดหรือไม่เปิดโรงเรียน” เป็นคำถามสำคัญที่ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองต่างลุ้นรอคำตอบ แม้ช่วงที่ผ่านมา หลายคนจะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้บ้างแล้ว แต่ก็อดคิดถึงการเรียนการสอนในห้องไม่ได้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่นิ่ง การเปิดเรียนแบบออนไซต์อย่างเต็มรูปแบบก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลใจ 

“เรามีแผนจะเปิดการเรียนการสอนแบบผสมผสานที่มีทั้งการเรียนในห้องเรียนและเปิดสอนออนไลน์ไปพร้อมกัน” ดร.ภัทรภร เจนสุทธิเวชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและการสอน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เผยแนวทางจัดเตรียมการเรียนการสอนเพื่อรับเปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

ดร.ภัทรภร กล่าวว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์มีความท้าทายหลายด้าน ครูผู้สอนทำงานหนักขึ้น ทั้งในการเตรียมบทเรียนที่จะสอน และกระบวนการสอนที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียน ส่วนนักเรียนเองก็มีความเครียดไม่แพ้ผู้สอนเช่นกัน 

ในเมื่อการเรียนการสอนออนไลน์ยังจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ ดร.ภัทรภร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นวรัตน์ สุขวัฒนาสินิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและการสอน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม แนะหลักคิด 7 ข้อที่จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์สนุกและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ได้สาระความรู้ รวมถึงส่งเสริมทักษะทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนด้วย 

1. ต่างวัย ก็ต่างสไตล์การสอนออนไลน์

นักเรียนแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยจึงต้องใส่ใจในความแตกต่างนี้ด้วย

“เด็กประถมให้ความร่วมมือในห้องเรียนดี แต่มีปัญหาสมาธิในการเรียน ในขณะที่เด็กโตกว่าจะให้ความร่วมมือในการเรียนในห้องเรียนน้อยลง แต่ก็มีวุฒิภาวะมากพอที่จะสนใจบทเรียนมากขึ้น” ผศ.นวรัตน์ กล่าว

“การสอนเด็กเล็กคงไม่สามารถทำได้เต็มที่ทั้งคาบเรียน (50 นาที) เพราะเด็กเล็กไม่อาจมีสมาธิจดจ่ออยู่หน้าจอเป็นเวลานานได้ เด็กจะมีสมาธิในการเรียนแต่ละครั้งประมาณ 5-10 นาที หรือตามอายุของผู้เรียน ดังนั้น นอกจากเนื้อหาที่จะเรียน ครูอาจจัดให้เป็นเวลาสำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำงานไปด้วย และมีการเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย”

สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยม ดร.ภัทรภร กล่าวว่านักเรียนมัธยมปลายส่วนมากจะกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่านักเรียนมัธยมต้นเนื่องจากเป็นวัยที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย การจัดการสอนให้นักเรียนมัธยมต้น ครูควรเน้นจัดกิจกรรม เล่นเกม เพื่อให้เด็กมีความกระตือรือร้นมากขึ้น การเข้าใจนักเรียนแต่ละวัยจะช่วยให้ครูจัดรูปแบบการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด

2. “เปิดหน้ากล้อง” สร้างการเชื่อมต่อ

ไม่ว่าจะเรียนออนไซต์หรือออนไลน์ กติกาในการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ หนึ่งในกติกาสำคัญคือ “เปิดหน้ากล้อง” 

“อย่างครูสอนชั้น ป. 2 ก็จะตกลงกับนักเรียนก่อนว่าอยากให้นักเรียนเปิดหน้าจอ เพื่อสังเกตดูว่านักเรียนสนใจเรียนอยู่ไหม หากเห็นว่านักเรียนเริ่มหลุด สนใจสิ่งอื่น ครูก็จะได้ดึงนักเรียนกลับมาสู่บทเรียน” ผศ.นวรัตน์ ยกตัวอย่าง

ดร.ภัทรภร กล่าวเสริมว่าครูอาจใช้การเช็คชื่อเป็นการสร้างกติกา “เปิดหน้ากล้อง” ได้เช่นกัน 

“ปกติเวลาที่เริ่มต้นคาบเรียนก็จะมีการเช็คชื่อเพื่อดูว่าใครพร้อมหรือไม่พร้อมเรียน แต่ถ้าใครที่ยังไม่เปิดกล้องหรือมีปัญหาในการเปิดกล้องก็แจ้งเป็นรายบุคคลได้ ครูก็จะสามารถยืดหยุ่นให้ได้ตามเหตุและผล”

การกระตุ้นให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมเปิดกล้องในการเรียนนั้น ดร.ภัทรภร แนะว่า “หากนักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนและคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ นักเรียนจะเปิดกล้องเรียนด้วยความเต็มใจ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกในการเรียนรู้” 

3. ยืดหยุ่น เข้าใจบริบท “ห้องเรียนที่บ้าน” ของนักเรียนแต่ละคน

บรรยากาศการเรียนการสอนออนไลน์ของทั้งครูและนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักเรียน สภาพแวดล้อมในบ้าน อุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งความเป็นไปที่เกิดขึ้นในบ้าน การเรียนการสอนออนไลน์ต้องมี “ความยืดหยุ่น” และเน้นพูดคุยให้เข้าใจกัน 

“ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ระเบียบบางอย่างอาจต้องยืดหยุ่น เช่น นักเรียนไม่จำเป็นต้องสวมชุดนักเรียน นักเรียนทานอาหารระหว่างเรียนได้ การรับประทานข้าวไปด้วยแล้วได้เรียน ก็ยังดีกว่าการที่เขารู้สึกไม่ดีกับการเรียนออนไลน์” ผศ.นวรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ การกำหนดคาบเรียนก็ต้องยืดหยุ่นเช่นกัน “คาบสอนของนักเรียนก็มีความสำคัญในช่วงการเรียนออนไลน์ ครูต้องยืดหยุ่นเรื่องการเข้าชั้นเรียนและการส่งงานมากกว่าในช่วงการเรียนปกติ” ดร.ภัทรภร เสริม

ที่สำคัญ โรงเรียนจำเป็นต้องสำรวจความพร้อมและการเข้าถึงเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ของนักเรียนด้วย

“โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีการสำรวจความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครองในเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนนักเรียนที่ต้องการปัจจัยดังกล่าว เราสนับสนุนซิมการ์ดให้นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้และสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียน เช่น iPad หรือ Notebook ให้กับนักเรียนและอาจารย์ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ดร.ภัทรภร ให้ข้อมูล

4. สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง

แม้นักเรียนและครูจะพบปะกันผ่านหน้าจอ ก็สามารถสร้างบรรยากาศให้การเรียนออนไลน์เป็นกันเองได้ ทั้งนี้ ผศ.นวรัตน์ แนะว่าก่อนที่จะเริ่มการเรียนการสอนในส่วนของเนื้อหา ครูควรสร้างบรรยากาศในหน้าจอให้มีความผ่อนคลาย สบายๆ 

“ครูจะเปิดห้องไว้ก่อนเวลาเพื่อให้นักเรียนเข้ามาสอบถามพูดคุยกันก่อน เป็นการสร้างความคุ้นเคย และได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยของเด็กผ่านหน้าจอ เมื่อรู้ว่าเด็กสนใจเกี่ยวกับอะไร ก็จะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการสอนเพื่อให้เด็กสนใจเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น” 

ดร.ภัทรภร เสริมว่า “นักเรียนจะคุ้นเคยกับผู้สอนเมื่อผู้สอนไม่สอนเพียงแต่เนื้อหาที่ต้องเรียนตามหนังสือ แต่มีการสอดแทรกการพูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่สอดคล้องในชีวิตประจำวัน เมื่อนักเรียนคุ้นเคยและสนิทกับครูผู้สอน ก็ไม่ยากที่ครูผู้สอนจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจของนักเรียน และทำให้นักเรียนสนใจที่จะติดตามบทเรียน”

5. สนุกและมีส่วนร่วมด้วย Active Learning

การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ควรเน้นการบรรยาย เพราะนักเรียนไม่สามารถจดจ่อกับบทเรียนที่หน้าจอได้นาน สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิกลับมาอยู่ในบทเรียนก็คือ “การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน”

“ครูควรสังเกตว่านักเรียนเข้าใจในเนื้อหาหรือไม่ โดยการตั้งคำถามให้นักเรียนตอบอยู่เสมอ ถ้าเขาอยู่หน้าจอแล้วเหลือบไปทางอื่น เราก็ต้องใช้วิธีการกระตุ้น เช่น ให้ช่วยอ่านโจทย์ให้เพื่อนๆ ฟัง ให้เด็กได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลา ให้เขาคาดเดาไม่ถูกว่าจังหวะไหนที่ครูจะเรียก” ผศ.นวรัตน์ แบ่งปันประสบการณ์การสอนนักเรียนชั้นประถ

ดร.ภัทรภร กล่าวเสริมว่าครูควรตรวจสอบความเข้าใจของเด็กอยู่เสมอ และสร้างแหล่งค้นคว้าข้อมูลให้กับนักเรียน เช่น การทิ้งสื่อการสอนไว้ให้ อัดคลิปวิดีโอการสอนเอาไว้ เพื่อให้นักเรียนได้กลับไปทบทวนและค้นคว้าเพิ่มเติมได้อย่างอิสระ

“บางครั้งในการสอนออนไลน์แบบสดทั้งคาบเรียน 50 นาที เด็กอาจจะไม่ได้อะไรมากนักแม้จะตั้งใจเรียน แต่ถ้าเราให้แบบฝึกหัดให้ไปทำทีหลัง เขาก็จะค่อยๆ นึกขึ้นมาได้ถึงสิ่งที่ได้เรียนวันนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจก็สามารถค้นข้อมูลหรือดูคลิปเพิ่มเติม การสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีควรเน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำ” 

อย่างไรก็ตาม ดร.ภัทรภร แนะว่าวิธีการจัดการเรียนการสอนมีมากมาย ครูควรเลือกใช้ตามความถนัดและความเหมาะสมของเนื้อหาหรือวิชานั้นๆ ที่สำคัญคือเป็นวิธีที่เหมาะกับนักเรียนในห้องเรียนนั้นๆ 

6. ลดการบ้าน ลดสอบ ประเมินผลให้ตรงจุด

สิ่งที่สร้างความกดดันให้นักเรียนมากที่สุดในการเรียนออนไลน์คงหนีไม่พ้น “การบ้าน” และ “การสอบ” 

“ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจารย์และโรงเรียนต้องหารือกันเพื่อให้การวัดประเมินผลทางออนไลน์ ไม่สร้างความกดดันให้กับนักเรียนจนเกินไป หรือเป็นภาระมากเกินความจำเป็น” ผศ.นวรัตน์ กล่าว

การวัดประเมินผลไม่ได้มีแต่การสอบอย่างเดียว แต่ทำได้หลากหลายวิธี ด้วยเครื่องมือวัดผลที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น การทำใบงาน การทำกิจกรรมในคาบ การสอบก็ยังมีแต่จะเป็นไปตามระดับชั้น ถ้าเด็กโตหน่อยที่คุ้นชินในการเข้าระบบเองได้ก็จะจัดสอบบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้มข้นเท่ากับการสอบในการเรียนตามปกติเพื่อลดความกดดันของเด็ก 

“การวัดและประเมินผลควรเน้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่าการตัดสินผลการเรียน และเน้นที่การประเมินระหว่างเรียนมากกว่าการประเมินปลายภาคเรียน” ดร.ภัทรภร กล่าว

7. ครูต้องปรับตัวและเรียนรู้อยู่เสมอ

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เข้ามาเร่งการเรียนรู้ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะครูผู้สอนที่ต้องปรับตัวให้เร็วและเรียนรู้เพื่อนักเรียนอยู่เสมอ

ดร.ภัทรภร เล่าว่าที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีการจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียนอยู่เสมอ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาจัดการอบรม อาทิ เรื่องการใช้สื่อเทคโนโลยี การตัดต่อวีดิโอ และแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน

“การอบรมเหล่านี้ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่จำเป็น และยังเป็นโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างอาจารย์ที่อายุน้อยกว่าที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และอาจารย์อาวุโสที่มีเทคนิคการสอน บางครั้งนักเรียนก็เก่งด้านเทคโนโลยีกว่าครู ก็ช่วยสอนครูได้ด้วย เราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ทั้งเด็กทั้งครู” ผศ.นวรัตน์ กล่าว

การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยังคงมีความท้าทายอีกมาก แต่หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกัน การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กๆ จะไม่มีวันสะดุด 

“เมื่อครูต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเรียนรู้และเตรียมการสอนออนไลน์ โรงเรียนก็สนับสนุนให้ครูมีเวลามากขึ้น โดยอาจจะลดภาระงานของครูลงบ้าง เช่น ลดการจัดกิจกรรมบางอย่างหรือการเข้าประชุมบางวาระ” ดร.ภัทรภร เสริมข้อคิดในเรื่องระบบที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้ผู้สอนมีเวลาทุ่มเทกับการสอนมากขึ้น

ที่สุดแล้ว ผู้วัดผลการเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีที่สุดคือนักเรียน

“โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ พยายามเปิดรับความคิดเห็นจากนักเรียนและมีการประเมินความเครียดของเด็กอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย” ผศ.นวรัตน์ สรุป

https://www.chula.ac.th/highlight/51722/

ทักษะครูกับการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ยุคใหม่


ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ


          ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลต่อการเลื่อนเปิดสถานศึกษา และเกิดการแพร่หลายของแนวทางจัดการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสารสนเทศขึ้นอย่างมากมาย ดังนั้น ครูผู้สอนในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนต่างก็มีการปรับตัว และเตรียมทักษะเพื่อรับมือกับแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบใหม่อย่างทันท่วงที พร้อมรับกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

          ทักษะในการจัดการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือระบบปฏิบัติการรูปแบบต่างๆ ที่อาศัยการบริหารจัดการห้องเรียนซึ่งแตกต่างไปจากห้องเรียนปกติในโรงเรียนนั้น ทักษะในการถ่ายทอดความรู้ของครูที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นแผนการสอน สื่อการสอน และการจัดการห้องเรียนผ่านเครือข่ายออนไลน์ สามารถสรุปได้ดังนี้

“รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และการสร้างสรรค์”

          เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนกับการเรียนผ่านเครือข่ายมีความท้าทายที่แตกต่างกันอย่างมาก การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นสื่อหรือเป็นช่องทางหลักในการถ่ายทอดความรู้ และกระบวนการคิด แทนที่การถ่ายทอด และรับรู้รับฟังข้อมูลแบบต่อหน้านั้น จึงควรจัดเตรียมความพร้อม และทักษะการใช้เทคโนโลยี และโปรแกรมแอพพลิเคชันต่างๆ เป็นอย่างดี สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกระบวนการจัดการสอน เพื่อความสะดวก และราบรื่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ หากครูมีทักษะการใช้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวในเบื้องต้น ได้แก่ วิธีการการใช้งาน ข้อดีหรือจุดเด่น ข้อเสียหรือจุดด้อยของแต่ละ โปรแกรมหรือแอพพลิเคชันออนไลน์ในการจัดการเรียนการสอน ความรู้เรื่องการเข้าใช้ และเทคนิคการแก้ไขปัญหาระบบอินเทอร์เน็ตในเบื้องต้น ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญาในการคัดลอกนำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้ การออกแบบเนื้อหาการเรียน และช่องทางการสื่อสารที่สอดคล้องกับความสามารถของแอพพลิเคชันหรือโปรแกรมออนไลน์เป็นอย่างดี รวมทั้งถ่ายทอดทักษะการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นให้แก่นักเรียนได้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาขัดข้องที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการจัดการสอน จะทำให้การเรียนการสอนดำเนินการได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องประกอบกับทักษะอื่นๆ ควบคู่กันอีกด้วย

“เมื่อไม่ได้พบหน้าจึงต้องอาศัยทักษะการสื่อสารที่หลากหลาย”

          ด้วยสภาพแวดล้อมของการเรียนผ่านเครือข่าย และโปรแกรมออนไลน์ต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร และการตีความได้ ดังนั้นประเด็นเรื่องทักษะการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น และเข้าใจง่าย โดยอาจใช้ภาพ วิดีโอ หรือตัวอย่างสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ ที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้มากที่สุดภายในขอบเขตระยะเวลาที่จำกัด ยิ่งไปกว่านั้น ครูควรเพิ่มความถี่ในการสื่อสารกับนักเรียน และผู้ปกครองที่มากกว่าการสื่อสารในช่วงการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ ซึ่งปรับใช้การสื่อสารทั้งแบบทางการ และกึ่งทางการเพื่อสร้างความร่วมมือ และการสนับสนุนการเรียนรู้ระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองให้พัฒนาไปพร้อมกัน ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในแนวทาง และแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด

“บริหาร และจัดเวลาการเรียนที่ยืดหยุ่นแต่มีประสิทธิภาพ”

          ประเด็นเรื่องการจัดการเวลาในการเรียน และการนับชั่วโมง ซึ่งอาจมีความแตกต่างไปจากการจัดเวลาในการเรียนในชั้นเรียนปกติที่ในแต่ละวันจะมีการจัดการเรียนรู้หลากหลายวิชา โดยที่แต่ละวิชาใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในทางกลับกัน ความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ของนักเรียนบางส่วนที่อาจจะต้องพึ่งพาการดูแล และอำนวยความสะดวกจากผู้ปกครอง ก็ต้องมีการปรับเวลาเรียนตามความเห็นชอบร่วมกันภายในชั้นเรียน ทำให้ต้องสื่อสารเรื่องการจัดการเวลาของการเรียน และการนับชั่วโมงเรียนใหม่ ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องทำการบริหารเวลาในการสอนให้เหมาะสม และมีคุณภาพ อาจพัฒนา และออกแบบการเรียนการสอนที่ใช้เวลาน้อยลงแต่ยังคงเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการศึกษาจากสื่อต่างๆ ที่ครูมอบหมาย หรือเรียนรู้ผ่านค้นคว้าข้อมูล ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตามแต่ต้องยึดตัวผู้เรียนเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน แนวทาง และวิธีการการเรียนรู้ทำให้นักเรียนที่มีลักษณะการเรียนรู้ และความถนัดที่หลากหลายสามารถพัฒนาทักษะสำคัญจากกระบวนการที่ครูออกแบบขึ้นทั้งสิ้น

“ถ่ายทอดสาระสำคัญของบทเรียน และการประยุกต์ใช้เป็นหลัก”

          เนื่องจากอุปสรรค และข้อจำกัดด้านเวลาในการเรียนรู้ การถ่ายทอด และการฝึกฝนให้นักเรียนสามารถจับสาระ และทักษะสำคัญอันเป็นใจความหลักของเรื่องบทเรียนนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ครูผู้สอนจะสามารถจัดการเรียนรู้ภายในระยะเวลาที่จำกัดได้ ปริมาณเวลาหรือการถ่ายทอดสาระข้อมูลจากครูที่ลดน้อยลง จะไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียน หากนักเรียนเข้าใจ และมีทักษะในการจับประเด็นหรือสาระสำคัญของเรื่องที่เรียน หรือจากสื่อที่ศึกษาเพิ่มเติมได้ ยิ่งไปกว่าทักษะการจับประเด็นสาระสำคัญแล้วนั้น การฝึกฝนทักษะคิดวิเคราะห์ อย่างมีเหตุมีผล ความกล้าคิดกล้าแสดงออกบนฐานของการศึกษา และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ จะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอดทักษะความสามารถด้วยตนเองเป็นอย่างดีเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นครูจะต้องมีการติดตามการเรียนรู้หรือการทำรายงานอยู่เสมอ อาจจะมีการสื่อสารหรือนัดหมายให้ตอบข้อคำถามหลังจากการศึกษาและค้นคว้าสื่อที่ได้มอบหมายให้เป็นระยะ ๆ เป็นต้น

“ปรับแนวทางประเมินผล และให้คำแนะนำที่มีคุณภาพและเหมาะสม”

          นอกจากทักษะข้างต้นที่ครูต้องเตรียมความพร้อมต่อการจัดการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายออนไลน์แล้วนั้น ประเด็นเรื่องการประเมินผลและให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนานักเรียนได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถและความถนัดของแต่ละคนก็ยังถือเป็นประเด็นที่ครูผู้สอนจะต้องมีการจัดการที่ดี โปร่งใสและเป็นที่รับรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ตามการประเมินผลหรือการตัดสินผลคะแนนของนักเรียน อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างคะแนน และลักษณะเนื้อหาตามตัวชี้วัดที่แตกต่างจากที่เคยใช้ในห้องเรียน ตัวชี้วัดตามหลักสูตรต้องการประเมินนักเรียนในด้านใด ครูจะต้องปรับลักษณะของงานและการทำกิจกรรมที่มอบหมายนั้น ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดมากยิ่งขึ้น เพื่อการพัฒนานักเรียนไปตามเป้าหมาย โดยปรับใช้วิธีการที่มอบหมายงาน

          การเตรียมการและการฝึกฝนทักษะของครู ไม่ว่าจะพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร และการถ่ายทอด การเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี รวมทั้งความกระตือรือร้นในการบริหารจัดการปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ และประเมินผลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ครู ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้แก่นักเรียนโดยก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องสถานที่และอุปสรรคต่างๆ ได้ในที่สุด

ที่มา:

Five Skills Online Teachers Need for Classroom Instruction: Resilient Educator. (2020, March 09). Retrieved May 21, 2020, from https://resilienteducator.com/classroom-resources/5-skills-online-teachers-need-for-classroom-instruction