SV Swimming




.

เมื่อกล่าวถึงการว่ายน้ำของเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่คงเป็นกังวลอย่างมาก ว่าจะเตรียมความพร้อมอย่างไรให้เด็ก ๆ ไม่กลัวน้ำ และสามารถว่ายน้ำได้อย่างสนุกสนาน ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์การสอนว่ายน้ำให้กับเด็กมาก่อน จึงมีเทคนิคดี ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ในการเตรียมตัวลูกก่อนไปว่ายน้ำได้

ครูผู้สอนเล่นกับเด็กเพื่อคลายความกังวล

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน

ก่อนไปว่ายน้ำ ควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับการลงว่ายน้ำให้พร้อมว่ามีอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร เรามาดูกัน

1. ชุดว่ายน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใส่ว่ายน้ำเสมอ การเลือกชุดว่ายน้ำให้กับเด็กนั้น ควรเลือกชุดว่ายน้ำที่เหมาะสมกับตัวเด็ก สามารถขยับแขน ขา ได้สะดวก ไม่แน่นและไม่หลวมจนเกินไป หากใส่ชุดที่ไม่ใช่ชุดว่ายน้ำลงสระ จะทำให้เคลื่อนไหวลำบากค่ะ

2. แว่นตาว่ายน้ำ มีความสำคัญอย่างมากกับการว่ายน้ำ เพราะขณะที่ว่ายน้ำต้องลืมตาในน้ำ แว่นตาจึงมีความจำเป็นในการช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตา และจะได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใต้น้ำชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นควรเลือกแว่นตาว่ายน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าแว่นตาว่ายน้ำของผู้ใหญ่ค่ะ

การไปเลือกซื้อแว่นตาแนะนำให้เด็กลองใส่ดูก่อน 

ให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยปรับสายของแว่นตา 

โดยให้แว่นตาไม่หลุดจากศีรษะเด็ก และแว่นตาต้องพอดีกับเบ้าตา 

ถ้าหากเลือกแว่นที่มีขนาดเล็กเกินไป 

จะทำให้ขอบตรงแว่นตารัดใบหน้าจนทำให้เด็กเจ็บบริเวณที่โดนขอบแว่นตาได้


3. หมวกว่ายน้ำ ควรเลือกหมวกว่ายน้ำสำหรับเด็ก ที่ใส่แล้วให้พอดีกับศีรษะไม่คับหรือหลวมเกินไป บางคนคิดว่า อาจจะใส่หรือไม่ใส่หมวกว่ายน้ำก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วตามกฎระเบียบของการใช้สระของทุก ๆ ที่ควรสวมหมวกว่ายน้ำ ทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำ เพื่อป้องกันเส้นผมร่วงลงสระน้ำ และตอนว่ายน้ำผมจะได้ไม่มาปิดหน้าขณะที่ว่ายน้ำค่ะ

4. อุปกรณ์สำหรับช่วยในการสอนว่ายน้ำ เช่น โฟม หรือบอร์ดโฟม

5. ผ้าเช็ดตัว ใช้คลุมตัวเด็กเมื่อขึ้นจากสระว่ายน้ำ และใช้เช็ดตัวเด็กให้แห้งทันทีหลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อป้องกันความอับชื้นและป้องกันการเป็นหวัดได้ค่ะ

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรนำสบู่ แชมพู สำหรับเด็กเตรียมไปด้วย 

หากสระน้ำเป็นสระกลางแจ้งก็ควรเตรียมครีมกันแดดไปทาเพื่อป้องกันแสงแดดด้วย

ข้อควรระวังและความปลอดภัย

ความปลอดภัยในการว่ายน้ำ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นน้ำอยู่คนเดียวตามลำพัง ถึงแม้ว่าเด็กจะว่ายน้ำเป็นแล้วก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรลงเล่นน้ำด้วยทุกครั้ง คอยดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด และอย่าปล่อยให้คลาดสายตาโดยเด็ดขาด เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ


เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยและสนุกสนาน เมื่อมีครูผู้สอนอยู่ข้าง ๆ

1. ระยะเวลาในการว่ายน้ำ มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับเด็กที่ยังไม่เคยว่ายน้ำเลย แนะนำให้ลงว่ายน้ำไม่เกิน 20-30 นาที เพราะช่วงแรก ๆ เด็กต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับอุณหภูมิในน้ำก่อนแล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นค่ะ สำหรับเด็กทารกอายุไม่เกิน 1 ขวบ ไม่ควรว่ายน้ำเกิน 20 นาที และเด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เพราะร่างกายของเด็กเมื่ออยู่ในน้ำอุณหภูมิของร่างกายจะต่ำลง หากแช่น้ำนาน ๆ อาจจะทำให้เด็กเป็นหวัดหรือไม่สบายได้

ทั้งนี้ระยะเวลาของการว่ายขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำด้วย

แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการของเด็กว่าหนาวรึยัง 

หากเด็กรู้สึกหนาวควรให้เด็กขึ้นจากสระแล้วอาบน้ำทันที เพื่อป้องกันเด็กไม่สบาย


2. ช่วงเวลาที่เหมาะสมพาเด็ก ๆ ไปว่ายน้ำ สำหรับสระกลางแจ้ง คือ ช่วงเช้าเวลา 07.00-09.00 น. และช่วงเย็นเวลา 16.00-18.00 น. เพราะจะได้หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำตากแดดค่ะ หรือถ้าสระว่ายน้ำที่อยู่ในร่มมีหลังคาบังแดด สามารถพาเด็ก ๆ ว่ายน้ำได้ทุกช่วงเวลาตามความเหมาะสม

3. ความสะอาดและอุณหภูมิของสระว่ายน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนึงถึง เพราะถ้าสระว่ายน้ำไม่สะอาดก็อาจจะทำให้เด็กติดเชื้อโรค เช่น โรคตาแดง โรคท้องร่วง เป็นหวัดได้ค่ะ เพราะขณะที่ว่ายน้ำอยู่ น้ำอาจจะเข้าตา จมูก หรือปากได้ และการเลือกสระว่ายน้ำควรเป็นสระที่ได้มาตรฐานและควบคุมคุณภาพน้ำ ต้องทำความสะอาดสระว่ายน้ำอยู่สม่ำเสมอค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สังเกตสระว่ายน้ำที่สะอาดได้จากน้ำในสระใส ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอนก้นสระ และกลิ่นคลอรีนไม่เหม็นจนเกินไปค่ะ ส่วนอุณหภูมิของน้ำคุณพ่อคุณแม่ควรเช็คอุณหภูมิของน้ำในสระก่อนว่าเหมาะสำหรับเด็กหรือไม่ ส่วนอุณหภูมิที่เด็ก ๆ สามารถลงเล่นได้สบาย จะอยู่ระหว่าง 31-34 องศาเซลเซียส

4. ทดสอบว่าแพ้สารคลอรีนหรือไม่ สำหรับเด็กที่ยังไม่เคยลงว่ายน้ำเลย ทดสอบโดยให้คุณพ่อคุณแม่ใช้มือจุ่มน้ำในสระแล้วลูบที่แขนเด็กก่อน ทิ้งไว้สักประมาณ 5 นาที ถ้าเด็กรู้สึกคันหรือเป็นผื่นแดงให้รีบไปล้างตัว อาบน้ำให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้งแล้วพาไปพบแพทย์

5. เมื่อเด็ก ๆ ไม่สบาย คุณพ่อและคุณแม่ไม่ควรพาไปว่ายน้ำนะคะ เพราะเด็กที่ไม่สบายจะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เด็กอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่ายแล้วยังอาจจะทำให้เด็กคนอื่น ๆ ที่ไปว่ายน้ำอยู่ติดเชื้อได้เช่นกัน

เมื่อเด็ก ๆ ทำผิดหรือทำอะไรที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อตัวเอง 

คุณพ่อคุณแม่ควรตักเตือนทันที เพื่อเค้าจะได้รู้ว่าไม่ควรทำ 

และเค้าจะได้ไม่ทำอีกในครั้งต่อไป เพราะสัญชาตญาณในตัวเด็กแล้ว 

เค้าจะยังไม่รู้ว่าสิ่งไหนทำได้และสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ

ปัญหาการกลัวน้ำของเด็ก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ

ก่อนจะให้เด็ก ๆ ว่ายน้ำต้องให้เค้าได้ทำความคุ้นเคยกับน้ำก่อน ไม่งั้นจะทำให้เด็กกลัวน้ำและไม่ยอมลงสระน้ำค่ะ เพราะเด็กบางคนก็ไม่ชินกับน้ำที่ต้องโดนหน้าแล้วจะคอยเอามือลูบหน้าทุกครั้ง  

1. ฝึกให้เด็กชินกับน้ำกล้าลงเล่นในสระ โดยให้เด็กนั่งอยู่ริมขอบสระน้ำใช้มือสัมผัสน้ำแล้วค่อย ๆ ให้เค้านั่งเตะขาในน้ำเบา ๆ ไปเรื่อย ๆ จะได้ผ่อนคลาย  สำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนั่งอยู่ข้าง ๆ เล่นกับเด็กเพื่อที่จะได้ไม่เกร็ง และรู้สึกปลอดภัยเมื่อลงน้ำ

เด็ก ๆ สร้างความคุ้นเคยกับน้ำด้วยการนั่งเตะขาในสระ

2. ฝึกให้เด็กไม่กลัวเวลาน้ำโดนหน้าและศีรษะ โดยใช้แก้วตักน้ำหรือใช้มือวักน้ำ แล้วค่อย ๆ เทบนศีรษะให้น้ำไหลผ่านใบหน้า ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ สัก 3-4 ครั้ง แต่ก่อนเทน้ำคุณพ่อคุณแม่ควรให้สัญญาณกับเด็กก่อน เพื่อเค้าจะได้เตรียมตัวกลั้นหายใจทันค่ะ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถผลัดกันเทน้ำใส่บนศีรษะกันไปมาก็ได้นะคะ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเราเล่นกันสนุกสนานมากกว่าการฝึกอยู่ และยังช่วยลดความกลัวของเด็กได้ดีอีกด้วยค่ะ

การเทน้ำใส่ศีรษะ หากเด็ก ๆ ที่กลัวน้ำมากอาจจะร้องไห้ได้ 

ซึ่งในช่วงแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่ทำเป็นประจำก็จะทำให้เด็กชินกับน้ำแล้ว เลิกร้องไห้

 เด็กก็จะไม่กลัวน้ำแล้ว ซึ่งการฝึกทุกครั้งไม่จำเป็นต้องไปทำที่สระว่ายน้ำเท่านั้น 

แต่สามารถฝึกได้ที่บ้านทุกวัน อาจจะทำในช่วงเวลาที่อาบน้ำและสระผมให้เด็กได้เช่นกัน


การฝึกให้เด็กไม่กลัวน้ำคุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น ค่อย ๆ ฝึก ไม่เร่งรีบและไม่บังคับเด็กเกินไป เพราะถ้าเค้าไม่เต็มใจทำแล้วยิ่งทำให้เค้ากลัวน้ำไปตลอดก็ได้ค่ะ และขณะที่สอนในแต่ละขั้นตอน เราควรทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างด้วยทุกครั้ง เพื่อเค้าจะได้มีความมั่นใจ แล้วกล้าทำตามที่เราบอกง่ายขึ้น

ผู้สอนสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับเด็กก่อนฝึกว่ายน้ำ

ครูผู้สอนสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก ๆ ก่อนลงสระน้ำ

เชื่อว่าพื้นฐานการว่ายน้ำของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่วนมากเด็กบางคนชอบการว่ายน้ำอยู่แล้ว แต่จะมีเด็กบางคนไม่กล้าลงเล่นน้ำ เนื่องจากเด็กอาจจะกลัวน้ำโดนหน้า กลัวน้ำเข้าตา กลัวน้ำเข้าหูเคยตกน้ำเคยจมน้ำมาก่อน จึงทำให้เด็กมีอคติหรือมีความคิดกลัวน้ำ และไม่กล้าจะเล่นน้ำอีกเลยค่ะ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เราสามารถเปลี่ยนความคิดของเค้าได้ง่าย ๆ โดยการต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับเด็กก่อนฝึกว่ายน้ำ

ส่วนตัวผู้เขียนเองมีวิธีการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก 

โดยการทำให้เด็กไว้ใจเราในขณะที่เราสอนว่ายน้ำ ทำให้รู้สึกอบอุ่น 

ให้เค้าคิดว่าเราจะไม่ทอดทิ้งให้เค้าว่ายน้ำอยู่ในสระคนเดียว 

รู้สึกปลอดภัยทุกครั้งที่ให้เราสอน และที่สำคัญหากเด็กทำได้ตามที่เราสอนแล้ว 

ก็ควรชมเชย ให้กำลังใจกับเด็ก เพื่อเค้าจะได้มีความมั่นใจในการว่ายน้ำต่อไป

สอนอย่างไรให้สนุก แล้วเด็กว่ายน้ำได้

เด็กกำลังเล่นน้ำกับครูผู้สอนอย่างสนุกสนาน

ในช่วงแรก ๆ ของการเริ่มฝึกให้เด็กว่ายน้ำ ควรทำบรรยากาศในการสอนให้สนุกสนาน ไม่กดดันเด็ก ไม่ว่าเด็กจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ที่สำคัญบรรยากาศการสอนว่ายน้ำ ควรเป็นบรรยากาศที่ไม่จริงจังมากเกินไปค่ะ โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองจะสอนอย่างสนุกสนานแล้วเล่นกับเด็กไปด้วย พร้อมทั้งสอดแทรกทักษะการว่ายน้ำ เพื่อให้เด็กไม่เบื่อแล้วจำได้ง่ายสามารถนำไปทำตามได้เอง และจะหาเกมต่าง ๆ มาเล่นขณะที่กำลังฝึกสอนว่ายน้ำด้วยค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือบังคับเด็กมากเกินไป 

ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สนุกแล้วจะส่งผลให้เด็กไม่อยากว่ายน้ำ 

และที่สำคัญไม่ควรเอาตัวเด็กไปเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่น ๆ ที่เค้าว่ายน้ำได้แล้ว 

เพราะจะทำให้เค้ารู้สึกน้อยใจได้ ควรจะมีวิธีการใช้คำพูดที่เป็นแรงผลักดันมากกว่า

การเปรียบกับเด็กคนอื่น อย่างเช่น เพื่อนลอยตัวได้แล้ว หนูลองทำดูไหม 

เชื่อว่าหากหนูทำ หนูต้องทำได้เหมือนเพื่อนแน่ ๆ เลย 

คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถลองนำไปฝึกกับเด็ก ๆ ได้


ทั้งนี้การที่คุณพ่อคุณแม่พาเด็ก ๆ ไปว่ายน้ำ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการเจริญเติบโตอย่างสมวัยให้กับเด็ก ๆ แล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวทำให้เด็กรับรู้ถึงความรัก การดูแลเอาใจใส่ ผ่านการโอบกอด การมองตา การพูดคุยต่าง ๆ ยิ่งทำให้เด็ก รู้สึกอุ่นใจ ไว้วางใจ และผูกพันกับครอบครัวมากขึ้นอีกด้วย




.

การยืดกล้ามเนื้อก่อนว่ายน้ำ

การยืดกล้ามเนื้อก่อนลงว่ายน้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อกล้ามเนื้อสัมผัสความเย็นของน้ำจะทำให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรวดเร็วจนรู้สึกแน่นและตึง ก็อาจจะเกิดการเป็นตะคริวได้ค่ะ ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ป้องกันการบาดเจ็บ สร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวของร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย ดังนั้นควรทำประมาณ 10-15 นาที

การยืดกล้ามเนื้อควรเป็นท่าที่ง่ายสำหรับเด็ก ยืดให้ครบทุกส่วนของร่างกาย เน้นกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและขาเพราะการว่ายน้ำจะใช้ขาในการเตะน้ำตลอดเวลา จึงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ใช้งานมากกว่าบริเวณส่วนอื่น ๆ 

ทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ

เป็นทักษะพื้นฐานที่เน้นการสอนให้เด็กได้ฝึกว่ายน้ำอย่างถูกวิธี ซึ่งการฝึกว่ายน้ำแบ่งเป็นทักษะต่าง ๆ ได้ดังนี้

การฝึกกลั้นหายใจ

ก่อนฝึกว่ายน้ำต้องเริ่มให้เด็กรู้จักควบคุมลมหายใจ และการกลั้นหายใจในน้ำให้ได้ก่อน เพราะการหายใจบนบกกับการหายใจในน้ำ จะมีความแตกต่างกัน คือการหายใจบนบกเราหายใจทางจมูก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์แต่ขณะที่ว่ายน้ำนั้น เราจะหายใจทางปาก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจมูก โดยมีวิธีการฝึกดังนี้

ผู้สอนสอนเด็กหายใจทางปากโดยให้อ้าปากเอาลมเข้า

ผู้สอนช่วยพยุงเด็กเพื่อฝึกการกลั้นหายใจใต้น้ำ

1. เริ่มจากให้เด็กอ้าปากกว้าง ๆ แล้วหายใจเข้าเอาลมเข้าเต็มปอด เมื่อมีลมอยู่ในปากแก้มจะป่อง ๆ

2. จากนั้นให้เด็กก้มหน้าลงใต้น้ำ ขณะที่ยังอมลมอยู่ในปากแล้วให้เด็กนับเลข 1-5 ในใจแล้วค่อยเป่าลมออกใต้น้ำ

3. ให้ทำตามข้อที่ 1 และ 2 อย่างต่อเนื่อง แล้วทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ สัก 5-10 ครั้ง หรือจนกว่าเด็กจะชิน

หากเด็กชินกับการกลั้นหายใจใต้น้ำแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มความยาก

โดยการนับเลขให้มากขึ้น เพื่อฝึกให้เด็กควบคุมการกลั้นหายใจให้ได้นานขึ้น 

โดยอาจจะหาสิ่งของที่สามารถจมน้ำได้ แล้วค่อย ๆ ให้เด็กก้มเก็บของขึ้นมาเพื่อเป็นการฝึก

ให้เค้าได้กลั้นหายใจใต้น้ำได้นานขึ้นนั่นเอง

การเตะขา

การฝึกทักษะการเตะขาให้ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญแล้วปล่อยให้เค้าเตะขาแบบไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้เค้าจำและเตะขาแบบผิด ๆ ไปตลอดค่ะ แต่ถ้าหากเด็กได้ฝึกท่าที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มฝึกจะเป็นผลดีกับตัวเด็กเอง เพราะจะช่วยให้เด็กไม่ต้องออกแรงเตะขามาก สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นนั่นเองค่ะ ซึ่งทักษะการฝึกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทักษะ ดังนี้

01 ทักษะการนอนคว่ำเตะขา

ผู้สอนจับขาเด็กเตะสลับไปมาฝึกทักษะการนอนคว่ำเตะขา

1. เริ่มจากเด็กนอนคว่ำบนขอบสระน้ำ ให้บริเวณตั้งแต่ต้นขายื่นออกมาจากขอบสระ จากนั้นเหยียดขาทั้งสองข้างให้ตรง

2. ให้เด็กค่อย ๆ ออกแรงจากสะโพกเตะขาสลับกันไปมาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ขาทั้งสองข้างยังเหยียดตรงอยู่ (ไม่งอเข่าขณะที่เตะขา)

ในการฝึกช่วงแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่บริเวณปลายเท้าของเด็ก 

แล้วจับปลายเท้าขยับสลับไปมาช้า ๆ และเมื่อเค้าชินกับการเตะขาแล้ว 

ถึงปล่อยให้เด็กเตะขาเองได้เลย

02 ทักษะการเกาะขอบสระเตะขา

1.เริ่มจากให้เด็กยืนในน้ำ หันหน้าเข้าหาขอบสระน้ำ

2.ใช้มือทั้งสองข้างจับขอบสระ โดยข้อศอกชิดผนังให้หัวไหล่เสมอใต้ผิวน้ำ แล้วเหยียดขาทั้งสองข้างไปข้างหลัง พร้อมเตะขาโดยเข่าไม่งอ

เริ่มการฝึกช่วงแรก ๆ เด็กอาจจะยังเตะขาแล้วตัวไม่ลอย 

คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้มือประคองใต้สะโพก เพื่อให้ลำตัวเด็กตรงขณะเตะขาได้ 

แต่ไม่ควรยกลำตัวเด็กขึ้น เพราะเราจะฝึกให้เค้าออกแรงเตะขา แล้วลำตัวลอยเอง

03 ทักษะการเกาะบอร์ดโฟมเตะขา

ผู้สอนกำลังสอนเด็กฝึกทักษะการเกาะโฟมเตะขา

1. ให้เด็กเหยียดแขนตรงวางบนบอร์ดโฟม พร้อมจับบอร์ดโฟมให้แน่น จากนั้นเหยียดลำตัวและขาให้ตรง

2. ให้เด็กออกแรงเตะขาสลับไปมา โดยแขนและขาทั้งสองข้างยังเหยียดตรงนะคะ เพราะถ้าหากงอเข่าขณะเตะขา อาจทำให้ลำตัวจมและทรงตัวไม่ได้นั่นเอง


ในช่วงแรก ๆ เด็กยังไม่สามารถจับบอร์ดโฟมเองได้ 

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยประคองบอร์ดโฟมได้ค่ะ 

ซึ่งทักษะนี้เด็กต้องเตะขาได้ถูกต้องและเตะได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว 

เพราะถ้าหากเด็กเตะขาไม่สม่ำเสมอกัน 

จะทำให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแล้วตัวก็จะจมลงนั่นเอง

การลอยตัวคว่ำ

เป็นการฝึกลอยตัวนิ่ง ๆ บนผิวน้ำคล้ายปลาดาว แต่จะคว่ำหน้าลงใต้น้ำ ซึ่งมีวิธีการฝึกเด็กดังนี้