SV Blended Learning

การเรียน Blended Learning รูปแบบไหนเหมาะกับห้องเรียนของคุณครูและนักเรียนในห้องมากที่สุด โดยรูปแบบการเรียน Blended Learning ที่คนรู้จักกันมีหลายแบบ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สามรูปแบบยอดนิยมมีอะไรบ้าง ไปดูกัน

Station Rotation Model ห้องเรียนหมุนเวียน

ในการเรียนมีกิจกรรมการเรียนรู้หลายแบบ และให้นักเรียนเวียนเรียนผ่านการเรียนหลายรูปแบบตามตารางที่กำหนด เช่น คาบหนึ่งเรียนกับคอมพิวเตอร์ คาบต่อไปเรียนกับคุณครู ส่วนอีกคาบเรียนเป็นเกมการเรียนรู้ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ โดยจะแบ่งกลุ่มหรือเวียนทั้งห้องเรียนก็ได้

Flipped Classroom Model ห้องเรียนกลับด้าน

เปิดโอกาสให้นักเรียนนำการเรียนผ่านการหาข้อมูลและทำรายงานโดยครูมีหน้าที่เพียงแค่กำหนดหัวข้อ หรือเตรียมข้อมูลให้นักเรียนล่วงหน้า ส่วนนักเรียนจะเป็นผู้นำผลการค้นหาหรือสิ่งที่เรียน มานำเสนอและพูดคุยในห้องเรียน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา

Flex Model ห้องเรียนยืดหยุ่น

นักเรียนได้เรียนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามความต้องการ ใช้การเรียนรู้ออนไลน์เป็นหลัก โดยทั้งเวลาและลักษณะการเรียนยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสมและสะดวก โดยมีคุณครูเป็นผู้ช่วยชี้แนะ

Blended Learning vs. Hybrid Learning

ทั้งคำว่า Blended และ Hybrid เมื่อแปลศัพท์เป็นภาษาไทยแล้ว อาจได้คำแปลว่า “ผสมผสาน” เหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ในบริบทของการจัดการเรียนรู้แล้ว มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยค่ะ

       การจัดการเรียนรู้ทั้ง 2 รูปแบบ มีแนวทางและคำอธิบายคล้ายกันตรงที่ เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนในชั้นเรียนจริง แบบเจอหน้ากันจริงๆ (face-to-face หรือ live) กับ การเรียนรู้ออนไลน์ (online learning)

       ทั้ง 2 รูปแบบ ต้องการพื้นที่เรียนรู้และสื่อออนไลน์ (Online materials) เหมือนๆ กัน  โดยมีข้อแตกต่างเล็กน้อยคือ

          สื่อออนไลน์ สำหรับ Blended Learning ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำมาใช้ทดแทนการเรียนรู้แบบเจอหน้ากันจริงๆ ในเวลาเดียวกัน (face-to-face class time) แต่เน้นที่เป็นการเสริม หรือเพิ่มเติม (supplement) จากการเรียนร่วมกันในชั้นเรียนมากกว่า

       ในขณะที่ สื่อออนไลน์ สำหรับ Hybrid Learning มักจะถูกสร้างมาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจได้เองง่ายกว่า เพื่อทดแทนการเรียนรู้แบบเจอหน้ากันจริงๆ ในเวลาเดียวกัน (face-to-face class time) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้เรียนมีอุปกรณ์ไม่พร้อม ในเวลาเดียวกันกับเวลาเข้าชั้นเรียน, หรือผู้เรียนไม่สะดวกเข้าชั้นเรียนในเวลาที่กำหนด 

          “การเรียนรู้ออนไลน์แบบโต้ตอบกันได้ (online interaction) แบ่งได้ 2 รูปแบบหลัก คือ แบบ Synchronous – ผู้เรียนและครู โต้ตอบกันในเวลาเดียวกัน (real time) เช่น เรียนออนไลน์ผ่าน Zoom, MS Team  หรือแบบที่ 2 Asynchronous — ที่ผู้เรียนและครู สามารถโต้ตอบกันได้ในเวลาที่ต่างกัน เช่น การส่งข้อความเสียงคุยกัน, การส่งงาน ทำการบ้านออนไลน์, การหารือ หรือสอบถามกันเป็น VDO”

          เป้าหมายสูงสุดของการเรียนรู้แบบ Hybrid Learning จริงๆแล้ว คือ การจัดการเรียนรู้แบบส่วนตัว (Personalized Learning) ที่ผู้เรียนสามารถเลือกแนวทาง ลำดับเนื้อหาที่เรียนเองได้, เลือกระยะเวลาที่ต้องการเรียนได้ เลือกเวลาเรียนได้ และเลือกสถานที่เรียนเองได้ (ทั้ง online และ offline) หรือก็คือ Path, Pace, Time, and Place.

       อย่างไรก็ดี ทั้ง Blended Learning และ Hybrid Learning ต้องการความร่วมมือทั้งจากผู้สอนและผู้เรียนที่ต้องมีความรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

Flipped Classroom หรือ Flipped Course

          ในที่นี้ สามารถใช้ได้กับทั้งการเรียนแบบดั้งเดิมที่โรงเรียน (On Site) หรือการเรียนแบบผสมผสานทั้ง 2 แบบข้างต้น เพราะว่า จุดสำคัญของ Flipped Classroom อยู่ที่วิธีการมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนต่อเนื้อหาที่เรียนรู้มากกว่า

       ในการเรียนรูปแบบดั้งเดิม ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาในชั้นเรียน ผ่านการสอนโดยครู, ผ่านกิจกรรม หรือผ่านสื่อต่างๆ ที่เสริมความรู้นอกชั้นเรียนเข้ามาให้

       การเรียนแบบ Flipped Classroom จะกลับกัน  โดยผู้เรียน จะศึกษาเนื้อหาก่อนเริ่มชั้นเรียน ทั้งจากการอ่าน, การฟัง การดูสื่อต่างๆ และนำมาขยายขอบเขตความเข้าใจหรือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนที่คุณครูผู้สอนเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำและสนับสนุน