ทักษะสมองเพื่อการบริหารชีวิตที่สำเร็จ EF 

EF Executive Function สำคัญต่อพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยอย่างไร


EF หรือ Executive Function คือ ความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ตนต้องการสำเร็จ โดยมีชื่อเรียกในภาษาไทยได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “ความสามารถในการจัดการ” “ทักษะที่จำเป็นในการทำกิจที่มีเป้าหมาย” หรือ “ทักษะการคิด”


แม้ว่าปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกันเรื่องหน้าที่ทั้งหมดของ EF แต่ทฤษฎีที่ได้จากการศึกษาส่วนใหญ่เชื่อว่า EF ประกอบไปด้วยหน้าที่ 3 อย่าง คือ

• ความสามารถในการจดจำ (Working Memory)

ความสามารถของคนแต่ละคนที่จะจำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาสู่สมอง และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาใช้ในเวลาต่อมาได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่อ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบต้องใช้ EF ในการจำเนื้อหาที่อ่านเข้าไปได้ แล้วใช้ EF เพื่อนำเนื้อหาที่จำนั้นออกมาตอบคำถามข้อสอบถูกต้อง

• ความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility)

ความสามารถที่ทำให้คนเราคิดเรื่องหนึ่งเรื่องได้ในหลายๆ มุมมองหรือวิธีการ เด็กอาจจะใช้ความสามารถนี้ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ข้อหนึ่ง โดยคิดวิธีคำนวณได้หลายวิธี หรือใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างของ 2 อย่างได้หลายมุมมอง

• ความสามารถในการควบคุมและยับยั้งตนเอง (Inhibitory Control)

ความสามารถในการเพิกเฉยต่อสิ่งเร้าต่างๆ ที่จะทำให้เราหลุดออกจากการทำงานที่อยู่ตรงหน้าได้ รวมไปถึงความสามารถในการทนต่อสิ่งยั่วยุทางอารมณ์ เด็กต้องใช้ EF เพื่อควบคุมตนเองระหว่างอยู่ในห้องเรียนไม่ให้พูดโพล่งระหว่างครูสอน หรือใช้คุมอารมณ์ไม่ให้ทำพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นที่อันตรายได้

EF สำคัญต่อช่วงวัยอย่างไร


มีหลักฐานทางการวิจัยที่ยืนยันว่า EF เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จตลอดช่วงชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนที่ดี พฤติกรรมที่เหมาะสม สุขภาพจิต สุขภาพกาย รวมไปถึงการประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงานในอนาคต โดยหากดูตามช่วงอายุแต่ละวัย EF จะช่วยในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

• วัยเด็ก EF สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จด้านการเรียนเพราะเด็กใช้มันเพื่อจดจำเนื้อหาที่เรียน ทำตามคำสั่งได้ต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้ว่อกแว่กกับการทำงาน ปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบ แก้ปัญหาต่างๆ ได้เหมาะสม และทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลายาวนานได้ นอกจากเรื่องการเรียนแล้วยังช่วยเรื่องสังคม เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม ความเป็นผู้นำ กล้าคิดตัดสินใจ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง และทำงานจนบรรลุเป้าหมาย



• วัยผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่มี EFดี มีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จทางด้านฐานะการเงิน เพราะมีความสามารถในการจัดระเบียบแบบแผนในชีวิต การวางแผนล่วงหน้า คิดแก้ไขปัญหา และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

ทำอย่างไรจึงจะมี EF ที่ดี


EF ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดแต่เป็นสิ่งที่สมองพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งในวัยเด็กจะเป็นช่วงที่สมองพัฒนา EF มากสุด โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-5 ปี และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นจึงหยุดการเติบโต โดยสิ่งที่กระตุ้นให้สมองพัฒนา EF คือ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับในช่วงวัยเด็ก การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (แน่นอนว่าคนที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่) การได้มีโอกาสเรียนรู้ เล่น หรือทดลองสิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการพัฒนา EF เช่น การที่เด็กมีความเครียดหรือมีโรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของ EF โดยตรง

                   การคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น คือการฝึกทักษะสมองสำคัญที่เรียกว่า Executive Functions หรือ EF ซึ่งช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต  โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางด้านสมาธิ หากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องอาจทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเรียน และการเข้าสังคมในอนาคต การฝึกทักษะสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย 


รู้จัก Executive Functions (EF)

ทักษะ EF หรือ Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คืออายุ 4 – 6 ขวบ เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด

 

ฝึกทักษะ Executive Functions (EF)

ทักษะ EF หรือ Executive Functions มีทั้งหมด 9 ด้าน โดยแบ่งออกเป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน และทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน ได้แก่

ทักษะพื้นฐาน (Basic) ประกอบไปด้วย

1) Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ

2) Inhibitory Control (ยั้งคิด ไตร่ตรอง) คือ ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมความต้องการ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้ 

3) Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ยืดหยุ่นความคิด) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ 

ทักษะสูง (Advance) ประกอบไปด้วย

4) Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป

5) Emotional Control (ควบคุมอารมณ์) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายเกินไป รู้จักแสดงอารมณ์อย่างถูกวิธี

6) Self – Monitoring (ติดตาม ประเมินตนเอง) คือ การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น รู้จักไตร่ตรองว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองทำอะไร และรู้ว่าใกล้จะเสร็จหรือเรียบร้อยแล้ว

7) Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

8) Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) คือ การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล

9) Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย 

สัญญาณความบกพร่อง EF

             สัญญาณที่สามารถบ่งชี้ว่าเด็กมีความบกพร่องในการบริหารจัดการตนเองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับทักษะ EF หรือ Executive Functions ได้แก่

ปัญหาด้านการยับยั้ง

ปัญหาด้านการปรับเปลี่ยนและการคิดยืดหยุ่น

ปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์

ปัญหาด้านความจำขณะทำงาน

ปัญหาด้านการวางแผนจัดการ


EF แก้ปัญหาสมาธิสั้น

               เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) จะมีอาการวอกแวก ไม่อยู่นิ่ง ขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ ขาดประสิทธิภาพในการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคต การฝึกทักษะ EF หรือ Executive Functions จึงมีความสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการตนเองอย่างรอบด้าน ช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครอง แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในสาขาต่าง ๆ และตัวเด็กเพื่อพัฒนาให้สมาธิดีขึ้นและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม